ความทรงจำที่เคลื่อนไหวได้ กับ หอภาพยนตร์ (Film Archive)
ทุกวันนี้เราดูภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ถึงขั้นตอนในการสร้าง ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ยากลำบากแค่ไหน หอภาพยนตร์ (Film Archive) จึงเป็นแหล่งหาคำตอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
วันนี้เราได้มาเที่ยวชมหอภาพยนตร์ และร่วมรำลึกถึงประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์ในยุคต่าง ๆ ซึ่งหอภาพยนตร์ตั้งอยู่ที่ศาลายา ใกล้ ๆ กับมหาวิทยาลัยมหิดล
มาถึงด้านหน้า มีสเลท (Clapper) อันใหญ่ยักษ์ เป็นสัญลักษณ์ตรงทางเข้า ภาพแรกที่เห็นสถานที่ โอ้วววว สวยยยมากกกก นึกว่าอยู่ต่างประเทศ ท้องฟ้าแจ่มใส ปลอดโปร่ง มองเห็นก้อนเมฆชัดเจน สีท้องฟ้าตัดกับสีของอาคาร Style ยุโรป ที่นี่เรียกว่า “เมืองมายา”
เมื่อเราเดินเข้ามาในเมืองมายา รู้สึกงง ๆ นิดหน่อยว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี สักพัก..ก็มีน้องอาสาสมัครวิ่งเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเยี่ยมชม และเชิญชวนให้เราเข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ในอาคารภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งจะแบ่งเป็นรอบ ๆ รอบละ 1 ชม. 30 นาที เราสนใจจะเข้าชม น้องจึงแนะนำว่าให้ไปลงทะเบียนก่อนในร้านมายาพาณิชย์ เราได้เข้าชมรอบ 14.00 น.
ร้านมายาพาณิชย์ (Maya Panich)
เป็นอาคารพาณิชย์สมัย ร.5 ภายในตกแต่งอย่างทันสมัย นอกจากจะเป็นจุดลงทะเบียนเข้าชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังเป็นจุดขายของที่ระลึก เช่น หนังสือความรู้ด้านภาพยนตร์, เสื้อยืด, กระเป๋าผ้า, DVD ภาพยนตร์ไทย, ไปรษณียบัตร และอื่น ๆ อีกมากมาย
ระหว่างรอเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เวลา 14.00 น. เราก็เดินถ่ายรูปเมืองมายาตามอาคารต่าง ๆ
ร้านถ้ำมอง คิเนโตสโคป (Kinetoscope Parlor)
เป็นการจำลองภาพยนตร์แบบถ้ำมอง ของโทมัส อัลวา เอดิสัน ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์ภาพยนตร์คนแรกคนหนึ่งของโลก มีลักษณะเป็นตู้ไม้ ภายในบรรจุภาพยนตร์สั้น ๆ เพื่อให้ได้ศึกษาถึงวิถีการชมและลักษณะของภาพยนตร์ในยุคก่อนที่จะมีการฉายขึ้นจอ
โรงหนังตังค์แดง (Nickelodeon)
เป็นการจำลองโรงหนังถาวรโรงแรกของโลก ภายในแบ่งออกเป็นโถงนิทรรศการบอกเล่าถึงความเป็นมาของโรงหนังประเภทนี้ และโรงหนังที่ตกแต่งอย่างสวยงาม
อาคาร Hotel Scribe
มีร้านกาแฟ Grand Cafe ตั้งอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Grand Cafe & Salon Indien สถานที่ฉายภาพยนตร์ขึ้นจอครั้งแรกของโลก โดยได้จำลองบรรยากาศการจัดฉายภาพยนตร์ชุดที่ฉายขึ้นจอและเก็บค่าเข้าชมจากสาธารณชนเป็นครั้งแรกของโลก แบบ Live Show
นิทรรศการหนังขายยา
เป็นการแปลงโฉมโรงจอดรถหนังขายยา โดยเนรมิตภายในโรงรถด้วยไฟประดับ เสียงโฆษณาหนังขายยา จิตรกรรมฝาผนัง และรถหนังขายยา รวมทั้ง จัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวกับวิถีการชมภาพยนตร์ประเภทนี้ด้วย
สถานีศีนิมา และรถไฟสายภาพยนตร์
เป็นหัวรถจักรโบราณ จำลองความเกี่ยวข้องของภาพยนตร์ไทยกับการรถไฟในอดีต ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตหนังแห่งชาติ และนำหนังใส่รถไฟไปฉายให้ประชาชนตามหัวเมืองได้ชมกัน
หลังจากเดินถ่ายรูปเพลิน ๆ เหลือบดูนาฬิกาอีกที ก็เวลา 14.00 น. แล้ว มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยกันดีกว่า
อาคารภาพยนตร์เสียงศรีกรุง
เป็นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย รูปแบบอาคารจำลองมาจาก “โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง” ในอดีต ด้านหน้ามีรูปหล่อจำลองของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ หรือ “พระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม” ตั้งอยู่ ใช้เวลาชมทั้งสิ้น 1 ชม. 30 นาที มีน้องอาสาสมัครให้ความรู้ตลอดการเข้าชม ไปกันเล้ยยย ^_^
หลังจากได้ชมพิพิธภัณฑ์แล้ว รู้สึกว่าการสร้างหนังในสมัยก่อน มีความยาก และมีขั้นตอนซับซ้อนมาก กว่าจะสร้างได้ 1 เรื่องใช้เวลาค่อนข้างนาน ทุ่มเททั้งกายและใจ บางท่านใช้เวลาทั้งชีวิตในการสร้างหนังเลยทีเดียว ชวนให้นึกถึงหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่เคยดู เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างหนัง ชื่อเรื่องว่า “Hugo” ใครสนใจก็ลองหามาชมกันได้นะ
[youtube id=”UGTfCw1x98A” maxwidth=”600″ align=”center” ]
เมื่อเวลาผ่านไป กลับมาย้อนดูหนังเก่า ๆ ทำให้รู้สึกว่ามันมีคุณค่ามาก คู่ควรกับการสะสม เก็บรักษา และถ่ายทอดให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยในแต่ละยุค ขั้นตอนในการสร้าง การเขียนบท การเตรียมการต่าง ๆ ที่ทำอย่างพิถีพิถัน และหนังยังแฝงไปด้วยแง่คิด ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิต ค่านิยม สังคม และวัฒนธรรมในสมัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ขอขอบคุณน้องอาสาสมัครทั้ง 3 คน ที่ให้ความรู้และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยได้อย่างละเอียด ชัดเจน มีมุขตลกเรียกเสียงหัวเราะให้เราได้ตลอดการเข้าชม ขอบคุณมากจ้า ^_^
เริ่มเหนื่อยละ หาที่นั่งพักทานกาแฟกันดีกว่า
ร้านกาแฟ Grand Cafe ตั้งอยู่ในอาคาร Hotel Scribe เป็นร้านเล็ก ๆ บรรยากาศเรียบง่าย Style ยุโรป มี 2 ชั้น ตกแต่งด้วยเก้าอี้ผู้กำกับ และกล้องถ่ายหนัง สามารถมานั่งจิบกาแฟชิลล์ ๆ พูดคุยกันเรื่องหนังได้สบาย ๆ
วันนี้เราได้ความรู้และเปิดโลกทัศน์ใหม่เกี่ยวกับเรื่องหนังมากมาย ใครสนใจก็สามารถมาเที่ยวชมกันได้นะ เข้าชมฟรี สถานที่สวยมาก วันไหนว่าง ๆ ไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนดี แนะนำที่นี่เลยจ้าาา ^__^
สามารถถ่ายรูปและชมสถานที่ภายนอกได้ฟรีทุกวัน
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.30 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลา 09.00-17.00 น.
เวลาทำการอื่น ๆ เพิ่มเติม
ห้องสมุด
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น.
พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละ 3 รอบ
เวลา 10.00 น., 13.00 น. และ 15.00 น.
โรงภาพยนตร์
วันอังคาร-ศุกร์ วันละ 1 รอบ เวลา 17.30 น., วันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 2 รอบ เวลา 13.00 น. และ 15.00 น.
วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละ 1 รอบ เวลา 13.00 น.
(งดฉายทุกวันจันทร์)
ร้านถ้ำมอง คิเนโตสโคป และโรงหนังตังค์แดง
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลา 10.00-17.00 น.
ร้านมายาพาณิชย์ (เปิดทุกวัน)
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลา 09.30-18.30 น.
ร้านกาแฟ Grand Cafe
วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.30 – 18.30 น.
นิทรรศการ Grand Cafe & Salon Indien
วันพุธ-ศุกร์ 2 รอบ คือ 14.00 และ 17.00 น., วันเสาร์-อาทิตย์ 3 รอบ คือ 11.00 น., 14.00 น. และ 16.00 น.
นิทรรศการหนังขายยา
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.30 – 17.30 น.
Tel: 02-4822013-14
Website: www.fapot.org
FB: www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage